Friday, October 5, 2007

ไก่ชนพื้นบ้าน


การเลี้ยงไก่ชนและไก่สวยงาม
( 1 ) แนวความคิดเกี่ยวกับการสร้างสรรค์ผลงาน
ในอดีตไก่ชนมีมาตั้งนาน ดังจะเห็นได้จากเรื่องราวที่ปรากฎในสมัยประวัติศาสตร์หรือบุคคลที่สืบทอดกันมาเป็นที่บอกเล่าขานถึงการชนไก่และลักษณะไก่ที่สวยงามตามแต่โบราณ จนถึงปัจจุบันได้อนุรักษ์และได้พัฒนาการเลี้ยงสืบต่อไปนี้ คือ
ลักษณะของไก่อุดมทัศนีย์
1.1 สายพันธุ์ จะบ่งบอกสายเลือด และความแท้ของสายพันธุ์
1.2 หน้าตา จะบ่งบอกความเฉลียวฉลาด รู้จักแก้สถานะการ
หน้าไก่อุดมทัศนีย์สามารถแยกเป็นดังนี้
· หงอน หงอนหินเป็นที่นิยมมากที่สุดและรองคือหงอนกรด
· ปาก จมูก ปากต้องใหญ่ มีร่องน้ำตลอด งุ้มแบบปากนกแก้ว
· หู ต้องเล็กตุ้มหูสั้นจึงดี เป็นตัวบ่งบอกพันธุ์ธุกรรม
· คิ้ว - ตา เป็นตัวบ่งบอกสติปัญญา ตาเป็นสีเหลืองชัด หรือตาเป็นสีปลาหมอตาย หน้าไก่ที่ดีต้องเป็นหน้านกยูง หน้านกเหยี่ยว

1.3 รูปร่าง จะบ่งบอกความเข้มแข็ง การได้เปรียบ
รูปร่างสวย ลำตัวต้องจับกลม 2 ท่อน บานหัวบานท้าย ลำตัวกลมเหมือนไม้กระบอก หลังแป้นท้ายแบนยาวแบบกระดาน คอยาวแบบคองูเห่า กระดูกอกใหญ่ และยาว
1.4 แข้งเกร็ด จะบ่งบอกการตีที่เจ็บปวด ตีหัก ตีชักหรือตีสลบ
แข้งงามคือ แข้งเรียวกลมแบบลำหวาย เกล็ดแข้งสวยงามเรียงเป็นระเบียบแบบแถวเดียว กำไลพันลำหรือสองแถวจระเข้ขบฟัน เกล็ดแข้ง เกล็ดนิ้ว สวยงามมีเกล็ดพิฆาต เกล็ดสร้อยสังวาลย์งามเรียงเป็นระเบียบ
1.5 สีสัน จะบ่งบอกสกุล อำนาจในท่าทางที่น่าเกรงขาม
ขนไก่มีหลายอย่างด้วยกันคือ
· ขนสร้อย คือขนที่ขึ้นบริเวณคอมีสีตามสายพันธ์
· ขนผัด หรือขนรอง ขึ้นตามตัวบริเวณหน้าอก หน้าคอ หน้าท้อง ขา ใต้คาง มีสีตามสายพันธุ์
· ขนคาง ขึ้นบริเวณใต้คาง
· ขนปีก มีทั้งปีกในและปีกนอก
· ขนหางผัด ขนที่ขึ้นจากกระพุ้งหาง เรียงแถวสองข้าง
· ขนหางกระรวย ขนคู่กลาง เรียกว่าขนเอก ต่อไปเรียกว่าขนรับ
· ขนปุย หรือขนอุยคือขนละเอียดที่ขึ้นใต้ท้อง หรือที่โคนขา
หางไก่
· หางพัด เรียงสองแถวข้างละ 11 เส้น
· หางระย้า หางที่คุมโคนขา
· หางรับ หางรองกระรวย
· หางกระรวย หางยาว แบ่งเป็น หางกระรอก หางพลูจีบ หางฝักดาบ หางนาคราช
1.6 กริยาชั้นเชิง จะบ่งบอกความเหนือชั้น และ เก่งกาจกว่าไก่อื่น ๆ
คือ การยืน การเดิน การวิ่ง เชิงชนงามคือ ยืนท่าตั้งตรง เดินหยิบโหย่ง เป็นไก่ท่าทางองอาจผึ่งผาย ยกหัว เชิงชนดี

เชิงไก่ชนไทยตั้งแต่โบราณมี 8 เพลงท่าและ15 กระบวนยุทธ
เช่นเพลงท่าคือ ลักษณะท่าทางการเข้าชนของไก่หรือ 8 เชิง กระบวนยุทธคือวิธีการต่อสู้ของไก่
· เชิงที่ 1 เชิงสาด เชิงที่ 5 เชิงบน
· เชิงที่ 2 เชิงเท้าบ่า เชิงที่ 6 เชิงล่อม้า
· เชิงที่ 3 เชิงลง เชิงที่ 7 เชิงตั้ง
· เชิงที่ 4 เชิงมัด เชิงที่ 8 เชิงลายชักลิ่ม
ในจำนวน 8 เพลงท่า ยังแบ่งแยกได้อีก 15 กระบวนยุทธ คือ
เชิงเท้าบ่า แยกเป็น เท้าตีตัว เท้าจิกหลังกระปุกน้ำมัน
เชิงหน้าตรง แยกเป็น หน้ากระเพาะ หน้าคอ หน้าหงอน
เชิงมัด แยกเป็น มัดโคนปีก มัดปลายปีก ( 7 เส้น )
เชิงลง แยกเป็น ลงจิกขา ลงซุ่มซ่อน ลงลอดทะลุหลัง
เชิงบน แยกเป็น ขี่ ทับ กอด มัด ล็อก
เชิงลายชักลิ่ม แยกเป็น ยุบหัว
ปัจจุบันมีการพัฒนาเชิงไก่ชั้นมากมาย เพิ่ม 8 เพลงท่า และ 25 กระบวนยุทธ
( 2 ) ผลงานส่วนที่คิดพัฒนาขึ้นมาใหม่ นอกจากแบบหรือตัวอย่างเดิม
เดิมทีไก่ไทยยังไม่มีการจดลิขสิทธิ์และมีชนต่างประเทศเอาไก่ไทยไปจดลิขสิทธิ์ของประเทศตัวเอง จึงได้มีการจัดตั้งสมาคมไก่อุดมทัศนีย์ หรือ ศูนย์พัฒนาและอนุรักษ์ไก่พื้นเมืองไทย ที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อที่จะอนุรักษ์ไก่สวยงามโดยมีกรมปศุสัตว์เป็นผู้รับรองไก่ไทยและเป็นหน่วยงานที่รับรองสายพันธุ์ไก่ไทยหรือไก่สวยงาม ในปัจจุบันได้รับรองสายพันธุ์ไก่ไว้ 7 สายพันธุ์คือ
1. ไก่พันธุ์เหลืองหางขาว
2. ไก่พันธุ์ประดู่หางดำ
3. ไก่พันธุ์เขียวหางดำ
4. ไก่พันธุ์เทาหางขาว
5. ไก่พันธุ์ทองแดงหางดำ
6. ไก่พันธุ์นกกรดหางดำ
7. ไก่พันธุ์นกแดงหางแดง
และกำลังได้ทำการรับรองอีก 5 สายพันธุ์ ยังอยู่ในการหาลักษณะหรือกำหนดสายพันธุ์ที่แน่นอนของไก่ในประวัติศาสตร์ คือ
1. ไก่พันธุ์เขียวเหล่าหางขาว
2. ไก่พันธุ์โนรีหางขาว
3. ไก่พันธุ์ดอกหมากหางขาว
4. ไก่พันธุ์ลายหางขาว
5. ไก่พันธุ์ดำหางดำ

ลักษณะและสายพันธุ์ไก่ในประวัติศาสตร์

ไก่พันธุ์เหลืองหางขาว
ประวัติความเป็นมา ครั้งหนึ่งไก่ไทยชนกับไก่พม่า หน้าพระที่นั่ง เหลืองหางขาวของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ตีไก่เหลืองดอกหมากของพระมหาอุปราชคอหักล้มลงและแพ้ทำให้พระมหาอุปราชทรงอับอายกล่าวแก้ว่าไก่เฉลยตัวนี้เก่งจริง ๆ สมเด็จพระนเรศวรมหาราชก็ทรงตอบโต้ด้วยความภูมิใจว่า ไก่เชลยตัวนี้อย่าว่าจะตีกันอย่างกีฬาในวังเหมือนวันนี้เลย ตีพนันเอาบ้านเอาเมืองกันก็ยังได้ จากพระราชดำรัสที่ทรงกล่าวอย่างไม่สะทกสะท้าน และมั่นพระฤทัยในไก่เหลืองหางขาว จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า” ไก่พระนเรศวรมหาราช “
แหล่งกำเนิด มีถิ่นกำเนิดแถวภาคเหนือของไทย บ้านหัวแท หรือบ้านกร่างจังหวัดพิษณุโลก ปัจจุบันมีแพร่หลายทั่วประเทศไทย
ประเภท เป็นไก่ขนาดกลาง น้ำหนักโดยเฉลี่ย ตัวผู้ประมาณ 3.0 – 3.5 กิโลกรัม ตัวเมีย 2.0 – 3.0 กิโลกรัม
ไก่เหลืองหางขาว นอกจากจะมีรูปร่างหน้าตา สีสัน เกล็ดแข้ง กริยาท่าทางงดงามตามอุดมทัศนีย์ดังกล่าวแล้ว ยังมีลักษณะเด่นประจำสายพันธุ์ที่แท้จริงเด่นชัดคือ
1. ขนพื้นตัว หน้าคอ หน้าอก หน้าท้อง ใต้ปีก สีดำสนิท ไม่มีสีแดงหรือสี
เหลืองหรือขาวปน
2. ขนปีก ขนปีกท่อนในสีดำสนิท ขนปีกท่อนนอก ขนไซปีก หรือปลายปีกสีขาวแซม
3. ขนสร้อย สร้อยคอ สร้อยปีก สร้อยหลังระย้า โคนสร้อยสีดำ ปลายสร้อยสีเหลืองสีเดียวรับกันตลอด
4. ขนปิดหู สีเหลืองรับกับสีสร้อย
5. ขนหาง หางพัดสีดำ ปลายจุดขาว หางกระลวยเอก สีขาวตลอดปลายเส้น
6. ขนหย่อมกระ จะมีขนหย่อมกระประแป้ง 5 แห่งเรียก เทพรักษา หรือพระเจ้าห้าพระองค์ที่หัวท้ายทอย1 หัวปีก2 ข้อขา2
7. ตา ตาสีขาวอมเหลือง เส้นตาสีแดง ตาปลาหมอตาย
8. ปาก แข้ง เล็บ เดือย สีขาวอมเหลืองแบบสีงาช้าง สีรับกันกับปากมีร่องน้ำ
9. เกล็ดแข้ง – นิ้ว แข้งคัดหรือลำหวาย นิ้วยาว ปลายเลียวแบบลำแทน เกล็ดเรียงเป็นระเบียบแบบจระเข้ขบฟัน มีเกล็ดแตก เหน็บ แซม มีเสือซ่อนเล็บ
10. กริยาท่าทาง องอาจผึ่งผาย ยืนตรง เล่นสร้อย ยกปีกกระพือปีกตลอดเวลา

ไก่เหลืองหางขาวมี6 ชนิดเรียงตามความนิยมในประเทศไทย
1. ไก่พันธุ์เหลืองใหญ่
2. ไก่พันธุ์เหลืองรวก
3. ไก่พันธุ์เหลืองดอกโสน
4. ไก่พันธุ์เหลืองเลา
5. ไก่พันธุ์เหลืองทับทิม
6. ไก่พันธุ์เหลืองธรรมดา

ไก่ประดู่หางดำ

แหล่งกำเนิด เป็นไก่พันธุ์แท้แต่โบราณ มีถิ่นกำเนิดแถบภาคกลางของไทย เช่น สุพรรณบุรี อยุธยา อ่างทอง พิจิตร สุโขทัย เป็นต้น
ประเภท มีน้ำหนักโดยประมาณ 3.0-3.5 กิโลกรัม ตัวเมียประมาณ 2.5-3.0 กิโลกรัม
ไก่ประดู่หางดำ นอกจากจะมีรูปร่างหน้าตา สีสัน เกล็ดแข้ง กริยาท่าทางงดงามตามอุดมทัศนีย์ดังกล่าวแล้ว ยังมีลักษณะเด่นประจำสายพันธุ์ที่แท้จริงเด่นชัดคือ
1. ขนพื้นตัว หน้าคอ หน้าอก หน้าท้อง ใต้ปีก สีดำสนิท ไม่มีอื่นเจือปน
2. ขนปีก ขนปีกท่อนในสีดำสนิท ขนปีกท่อนนอก มีสีดำสนิทไม่มีขาวปน
3. ขนสร้อย สร้อยคอ สร้อยปีก สร้อยหลังระย้า สีเดียวรับกันทั้งตัว
4. ขนปิดหู สีประดู่รับกับสีสร้อย
5. ขนหาง หางพัดสีดำ หางกะลวยสีดำสนิท ไม่มีขาว
6. ตา ตาสีประดู่เมล็ดมะขามตาสีไพลแก่
7. ปาก แข้ง เล็บ เดือย สีตามสายพันธุ์
8. เกล็ดแข้ง – นิ้ว แข้งคัดหรือลำหวาย นิ้วยาว ปลายเรียวแบบลำเทียน เกล็ดเรียงเป็นระเบียบแบบจระเข้ขบฟัน มีเกล็ดแตก เหน็บ แวม มีเสือซ่อนเล็บ
9. กริยาท่าทาง สง่างามพอกับไก่เหลืองหางขาว

ไก่ประดู่หางดำ มี 3 ชนิดเรียงตามความนิยมในประเทศไทย

1. ไก่พันธุ์ประดู่เมล็ดมะขาม
2. ไก่พันธุ์ประดู่แสมดำ
3. ไก่พันธุ์ประดู่แข้งเขียวตาลาย


ไก่เขียวหางดำ

แหล่งกำเนิด มีถิ่นกำเนิดแถบภาคใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ
ประเภท มีน้ำหนักโดยประมาณ 3.0-3.5 กิโลกรัม ตัวเมียประมาณ 2.0 -3.0 กิโลกรัม
ไก่เขียวหางดำ นอกจากจะมีรูปร่างหน้าตา สีสัน เกล็ดแข้ง กริยาท่าทางงดงามตามอุดมทัศนีย์ดังกล่าวแล้ว ยังมีลักษณะเด่นประจำสายพันธุ์ที่แท้จริงเด่นชัดคือ
1. ขนพื้นตัว หน้าคอ หน้าอก หน้าท้อง ใต้ปีก สีดำสนิท ไม่มีอื่นเจือปน
2. ขนปีก ขนปีกท่อนในสีดำสนิท ขนปีกท่อนนอก มีสีดำสนิทไม่มีขาวปน
3. ขนสร้อย สร้อยคอ สร้อยปีก สร้อยหลังระย้า สีเขียวรับกันทั้งตัว
4. ขนปิดหู สีเขียวรับกับสีสร้อย
5. ขนหาง หางพัดสีดำ หางกระลวยสีดำสนิท ไม่มีขาว
6. ตา ตาสีเขียวอมดำ สีตาปลาหมอตายหรือสีดำตามสายพันธุ์ เช่นเขียวพาลี เขียวมรกต เขียวพระรถ ตาสีเขียวอมดำ
7. ปาก แข้ง เล็บ เดือย สีตามสายพันธุ์ เช่นเขียวพาลี เขียวมรกต เขียวพระรถ ตาสีเขียวอมดำ
8. เกล็ดแข้ง – นิ้ว แข้งคัดหรือลำหวาย เกล็ดเรียงเป็นระเบียบ มีเกล็ดพิฆาตหลายเกล็ด
9. กริยาท่าทาง สง่างามและเชิงดี

ไก่เขียวหางดำ มี 6 ชนิดเรียงตามความนิยม
1. ไก่พันธุ์เขียวพาลี
2. ไก่พันธุ์เขียวมรกต
3. ไก่พันธุ์เขียวไข่กา
4. ไก่พันธุ์เขียวนิล
5. ไก่พันธุ์เขียวแมงทับ
6. ไก่พันธุ์เขียวพระรถ

ไก่เทาทองคำ

ประวัติความเป็นมา ไก่เทาเป็นไก่พื้นเมือง ในสมัยอยุธยาตอนปลาย ครั้งสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชยังทรงเป็นเจ้าเมือง ได้ทรงทอดพระเนตรและทรงเป็นกรรมการชนไก่ระหว่างไก่เขียวพาชีของพระยาพิชัยดาบหักกับไก่โทนเถ้าของหลวงเมืองตาก หรือพระยาคลัง ไก่โทนเถ้าเป็นไก่เชิงดี ชนชนะมาหลายครั้ง จนเป็นที่เลื่องลือในเมืองตาก วันชนไก่ ไก่โทนเถ้าตีหักที่คิ้วไก่เขียวพาลี ไก่พาลีวิ่งหนีทำท่าจะแพ้ ไก่โทนเถ้าตีหลายครั้งอีกหลายที่ พอดีเวลาหมด ต่อมาทั้งคู่สู้แบบสูสีไก่โทนเถ้าได้เปรียบใหญ่กว่าไก่พาลี ทำให้ไก่พาลีวิ่งหนี ขณะไก่โทนเถ้าวิ่งไล่ได้ไม่ได้ระวัง ไก่พาลีสติได้ตีสวนกลับ และแทงเข้าที่รูหู ทำให้ไก่โทนเถ้าชัก ล้มลงและทำให้หลอดลมขาดถึงกับความตาย
แหล่งกำเนิด เป็นไก่พันธุ์แท้แต่โบราณ มีถิ่นกำเนิดหลาย ๆ ภาคของไทย เป็นไก่ที่ไม่นิยมเลี้ยงเพราะเข้าใจว่าใจเสาะจึงไม่นิยมเลี้ยง
ประเภท มีน้ำหนักโดยประมาณ 3.0-3.5 กิโลกรัม ตัวเมียประมาณ 2.0-3.0 กิโลกรัม
ไก่เทาหางขาว นอกจากจะมีรูปร่างหน้าตา สีสัน เกล็ดแข้ง กริยาท่าทางงดงามตามอุดมทัศนีย์ดังกล่าวแล้ว ยังมีลักษณะเด่นประจำสายพันธุ์ที่แท้จริงเด่นชัดคือ
1. ขนพื้นตัว หน้าคอ หน้าอก หน้าท้อง ใต้ปีก สีเทา ไม่มีอื่นเจือปน
2. ขนปีก ขนปีกท่อนในสีเทาสนิท ขนปีกท่อนนอกมีขาวแซมเล็กน้อย ในพวกเทาทองคำ เทาทองแดง มีสีเทาตลอดทั้งปีก
3. ขนสร้อย สร้อยคอ สร้อยปีก สร้อยหลังระย้า สีตามสายพันธุ์
4. ขนปิดหู สีเทารับกับสีสร้อย
5. ขนหาง หางพัดสีเทา ขนหางกระลวยสีขาว สีเทาทองคำ และเทาเงินยวง
6. ตา ตาสีตามสายพันธุ์ คือเทาทองคำตาสีขาวอมเหลือง เทาทองแดงตาสีแดง เทาไหม้ตาสีไพร
7. ปาก แข้ง เล็บ เดือย สีขาวอมเหลืองรับกัน
8. เกล็ดแข้ง – นิ้ว แข้งคัดหรือลำหวาย เกล็ดเรียงเป็นระเบียบ มีเกล็ดพิฆาตหลายเกล็ด
9. กริยาท่าทาง เป็นไก่เชิงดีสง่างามและว่องไว

ไก่เทาหางขาว มี 6 ชนิดเรียงตามความนิยม

1. ไก่เทาทองคำ
2. ไก่เทาทองแดง
3. ไก่เทาสวาด
4. ไก่เทาหม้อ
5. ไก่เทาขี้ควาย
6. ไก่เทาดำ

ไก่ทองแดงหางดำ

สายพันธุ์ เป็นไก่พันธุ์แท้แต่โบราณ ทราบได้สมัยอยุธยา ตอนฉลองกรุงหงสาวดีให้มีการจัดชนไก่ หน้าพระที่นั่งเจ้าบุเรงนอง สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ครั้งยังทรงพำนักอยู่ที่กรุงหงสาวดี ได้รับสั่งให้สมเด็จพระน้องยาเธอ พระเอกาทศรถนำไก่ไทยไปร่วมชนในงานฉลองและได้นำไก่ทองแดงหางดำได้ไปสร้างชื่อเสียงเอาชนะไก่พม่าอย่างง่ายดาย
แหล่งกำเนิด ไก่ทองแดงหางดำ มีแหล่งกำเนิดอยู่ทั่ว ๆไป เป็นไก่ดังในอดีตจังหวัดเพชรบุรี ราชบุรี อยุธยา พิจิตร เป็นต้น
ประเภท มีน้ำหนักโดยประมาณ 3.0-3.5 กิโลกรัม ตัวเมียประมาณ 2.5-3.0 กิโลกรัม
ไก่ทองแดงหางดำ นอกจากจะมีรูปร่างหน้าตา สีสัน เกล็ดแข้ง กริยาท่าทางงดงามตามอุดมทัศนีย์ดังกล่าวแล้ว ยังมีลักษณะเด่นประจำสายพันธุ์ที่แท้จริงเด่นชัดคือ
1. ขนพื้นตัว หน้าคอ หน้าอก หน้าท้อง ใต้ปีก สีแดงขลิบดำ
2. ขนปีก ขนปีกท่อนในสีแดง ขนปีกท่อนนอกสีดำ
3. ขนสร้อย สร้อยคอ สร้อยปีก สร้อยหลังระย้า สีแดง
4. ขนปิดหู สีแดงรับกับสีสร้อย
5. ขนหาง หางพัดปลายมนกลม สีดำยาวไม่ต่ำกว่า 1 คืบ
6. ตา ตาสีแดง
7. ปาก แข้ง เล็บ เดือย สีเหลืองอมแดงรับกัน
8. เกล็ดแข้ง – นิ้ว แข้งคัดหรือลำหวาย เกล็ดเรียงเป็นระเบียบ มีเกล็ดพิฆาตหลายเกล็ด
9. กริยาท่าทาง เป็นไก่เชิงดีสง่างามและว่องไว

ไก่ทองแดงหางดำ มี 4 ชนิดเรียงตามความนิยม

1. ทองแดงหางแดง
2. ทองแดงตะเภาทอง
3. ทองแดงแข้งเขียวตาลาย
4. ทองแดงอ่อนหรือสีปูนแห้ง

ไก่นกกรดหางดำ

แหล่งกำเนิด เป็นไก่พันธุ์แท้แต่โบราณ มีถิ่นกำเนิดแถบทั่ว ๆไป ไกดังจังหวัด เช่น สุพรรณบุรี ราชบุรี อยุธยา อ่างทอง พิจิตร สุโขทัย นครปฐม เป็นต้น
ประเภท มีน้ำหนักโดยประมาณ 3.0-3.5 กิโลกรัม ตัวเมียประมาณ 2.5-3.0 กิโลกรัม
ไก่นกกรดหางดำ นอกจากจะมีรูปร่างหน้าตา สีสัน เกล็ดแข้ง กริยาท่าทางงดงามตามอุดมทัศนีย์ดังกล่าวแล้ว ยังมีลักษณะเด่นประจำสายพันธุ์ที่แท้จริงเด่นชัดคือ
1. ขนพื้นตัว หน้าคอ หน้าอก หน้าท้อง ใต้ก้น สีดำ
2. ขนปีก ขนสีดำ ขนปีกท่อนนอกสีน้ำตาลอมแดงคล้ายสีเปลือกอกแมลงสาบ
3. ขนสร้อย สร้อยคอ สร้อยปีก สร้อยหลังระย้า สีแดง
4. ขนปิดหู สีน้ำตาลอมแดงสีเดียวกับสีสร้อย
5. ขนหาง หางพัดสีเทา ขนหางกระลวยสีขาว สีตามสายพันธุ์
6. ตา ตาสีเหลืองหรือสีแดง
7. ปาก แข้ง เล็บ เดือย สีเหลืองอมแดงสีรับกัน
8. เกล็ดแข้ง – นิ้ว สีเดียวกับสีปากแข้งคัดหรือลำหวาย เกล็ดเรียงเป็นระเบียบ มีเกล็ดพิฆาตหลายเกล็ด
9. กริยาท่าทาง เป็นไก่เชิงดีสง่างาม

ไก่นกกรดหางดำ มี 4 ชนิดเรียงตามความนิยม

1. ไก่นกกรดแดง
2. ไก่นกกรดดำ
3. ไก่นกกรดเหลือง
4. ไก่นกกรดนาค

ไก่นกแดงหางแดง

สายพันธุ์ พันธุ์แท้แต่โบราณ มีถิ่นกำเนิดทั่ว ๆไปแถบภาคใต้ และภาคเหนือของไทย ที่มีชื่อเสียงโด่งดังครั้งสมัยอยุธยาตอนกลาง เป็นไก่ของขุนฤทธิ์ปูพ่าย หรือ พระยาศรีไสณรงค์ เจ้าเมืองกาญจนบุรี ทหารเอกของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ตามประวัติชนมา 69 ครั้งไม่เคยแพ้ใคร
แหล่งกำเนิด มีแหล่งกำเนิดทั่วไป จะอยู่แถวจังหวัด กาญจนบุรี พิษณุโลก อยุธยา พิจิตร เป็นต้น
ประเภท มีน้ำหนักโดยประมาณ 3.0-3.5 กิโลกรัม ตัวเมียประมาณ 2.5-3.0 กิโลกรัม
ไก่นกแดงหางแดง นอกจากจะมีรูปร่างหน้าตา สีสัน เกล็ดแข้ง กริยาท่าทางงดงามตามอุดมทัศนีย์ดังกล่าวแล้ว ยังมีลักษณะเด่นประจำสายพันธุ์ที่แท้จริงเด่นชัดคือ
1. ขนพื้นตัว หน้าคอ หน้าอก หน้าท้อง ใต้ปีก สีแดงตามเฉดสี
2. ขนปีก สีแดง ทั้งปีก
3. ขนสร้อย สร้อยคอ สร้อยปีก สร้อยหลังระย้า สีแดง
4. ขนปิดหู สีแดงรับกับสีสร้อย
5. ขนหาง หางพัดสีเทา ขนหางแดง ไม่มีสีอื่นเจือปน
6. ตา ตาสีแดง
7. ปาก แข้ง เล็บ เดือย สีเหลืองอมแดงรับกัน
8. เกล็ดแข้ง – นิ้ว สีเหลืองอมแดงรับกับปาก แข้งคัดหรือลำหวาย เกล็ดเรียงเป็นระเบียบ มีเกล็ดพิฆาตหลายเกล็ด
9. กริยาท่าทาง เป็นไก่เชิงดีสง่างามและว่องไว

ไก่นกแดงหางแดง มี 4 ชนิดเรียงตามความนิยม

1. แดงชาด
2. แดงทับทิม
3. แดงเพลิง
4. แดงนาก

( 3 ) ขั้นตอนหรือการผลิตผลงาน
· การคัดเลือกพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์
ขั้นตอนนี้สำคัญมาก ที่จะต้องหาพ่อพันธุ์ที่ดีมีประสบการณ์หรือมีประวัติการชนชนะมามาก ชนะการประกวด หรือลักษณะได้สัดส่วนตามที่กล่าวมา สีสันสวยงามชัดเจนตามสายพันธุ์ อายุของพ่อพันธ์ควรมีอายุไม่ต่ำกว่า 1 ปีและไม่เกิน 3 ปี และแม่พันธุ์จะต้องเป็นสายพันธุ์ที่แท้มีเหล่ากอที่เชื่อถือได้ อายุของแม่พันธุ์ควรไม่ต่ำกว่า 8 เดือนหรือไม่เกิน 3 ปี

· การเตรียมก่อนการผสมไก่
เมื่อคัดเลือกแม่พันธุ์และพ่อพันธุ์ที่สมบูรณ์มากำจัด ไร เหา พยาธิ ให้หมดสิ้น และนำพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์มาทำการบำรุงใว้ในกรงที่มีที่นอนกันยุงและแมลงได้ ไม่ถูกลมและฝนให้อาหารประจำ เช่น ข้าวเปลือก อาหารเสริม

· วิธีการผสมพันธุ์
แม่พันธุ์ที่สมบูรณ์ หน้าจะแดง ขนเป็นมัน ส่งเสียงร้อง ก๊าก ๆ เวลาเอามือแตะหลังมันจะหมอบทันที เมื่อแม่พันธุ์ใกล้จะไข่ประมาณ 2 วันก็จับตัวพ่อพันธุ์ให้เข้าผสมในการผสมจะผสมในช่วงเช้าหรือเย็นในการผสมจะใช้วิธีการจับให้ผสมหรือปล่อยในกรงให้ผสมเอง การผสมตัวผู้ 1 ต่อตัวเมีย 4 ตัว

· วิธีการฟักไข่ไก่
หลังจากที่ผสมพันธุ์แล้วประมาณ4–5วันตัวเมียจะเริ่มไข่ เมื่อไข่จะต้องจดชื่อพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์และวันที่ไข่ออกไว้ไข่ที่ออกมานั้นถ้าเป็น 10ฟอง 2ฟองแรกจะไม่เอาไปฟักเพราะว่าอาจจะเป็นเชื้อของตัวอื่นที่เราไม่ต้องการ และ 2 ใบสุดท้ายก็จะไม่เอาเพราะใบสุดท้ายอาจจะทำให้เชื้ออ่อน
ในการฟักมี 2 วิธีคือ
1. แม่ไก่ฟักเองแบบนี้จะไม่นิยมกันเพราะจะทำให้แม่ไก่โทรมเร็ว
2. ใช้ตู้อบหรือฟักแบบนี้จะทำให้ไข่ที่ฟักเป็นตัวประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์

· วิธีการเลี้ยงอนุบาล
ลูกไก่ที่เกิดมาใน 2 วันแรกไม่ต้องให้อาหารหลังจากนั้น 3 วันนำลูกไก่ให้อยู่ในกรงและให้อาหารลูกไก่ในเวลากลางคืนให้แสงไฟ 60 แรงเทียน เพื่อที่จะลูกไก่อบอุ่น

· การให้อาหารลูกไก่
สัปดาห์แรก ให้อาหารไก่อ่อนของซีพีหรือแชมป์ น้ำที่สะอาดผสมกับเกลือแร่และยาปฏิชีวนะ ทำความสะอาดกรงทุกวัน
สัปดาห์ที่ 2-3-4 ให้อาหารไก่อ่อนต่อกรวดทรายเปลือกหอย หญ้าสับและให้
อาหารเสริม

สัปดาห์ 5-6-7 ให้อาหารเหมือนสัปดาห์ที่ 2-4 อาหารเสริมไก่ระยะที่ 2 เวลากลางวันให้อยู่ในกรงที่ใหญ่ขึ้น ให้ไก่วิ่งเล่นออกกำลังกาย

อายุ 2 เดือน ให้อาหารข้าวเปลือก อาหารไก่รุ่น ลูกไก่เริ่มจะจิกกันให้ใช้กรรไกรตัดเล็บตัดจงอยปากบนให้เสมอปากล่าง ปล่อยไก่รวมกันในกรงใหญ่ ให้ไก่ได้เดินและวิ่ง คุ้ยหาอาหารและเขี่ยดินเล่นออกกำลังกาย

เทคนิคการแต่งไก่สวยงามประกวด

1. ได้พ่อพันธ์ไก่ที่ต้องการแล้ว นำมาบำรุงอาหาร อาหารหลักคือข้าวเปลือก อาหารเสริมคือ ถั่วลิสงเพราะมีโปรตีนมากจะบำรุงขนไก่ หญ้าขนหั่นให้กิน มะเขือเทศ แตงกวา
2. ใน 1 เดือนอาบน้ำ1 ครั้ง นำมาตากแดด ลูบน้ำหมาด ๆ ทุกวัน ดูแลไก่อย่างตลอด ถ้าไม่สบายต้องหายาให้กิน ยาใช้ชนิดเดียวกับไก่ชน
3. ช่วงตอนเย็นให้ไก่ออกกำลังกาย
4. ก่อนทำการแข่งขัน 2 วัน จับอาบน้ำแต่งตัว ตัดส่วนที่เกินออกคือส่วนที่เราไม่ต้องการเช่นขนสีที่ผิดสายพันธุ์

เทคนิคการแต่งไก่ชน

ตารางประจำวันไก่ที่จะชน (การเลี้ยงจะแตกต่างกันกับไก่สวยงาม )
05.30 นโยนเบาะ
06.00 น.วิ่งสุ่ม
07.00 น.ล่อเป้าหรือซ้อมลงนวม
08.00 น.อาบน้ำยา เช็ดตัว ผึ่งแดด
09.00 น.กินอาหาร ยาบำรุง พักผ่อน

13.00 น.วิ่งสุ่ม
14.00 น.อาบน้ำเปล่า เช็ดตัว ตากแดด
15.00 นนวดตัว กล้ามเนื้อ
16.00 น.ปล่อยเดินอิสระ
17.00 น.กินอาหาร กินยาบำรุง

( 4 ) วัสดุและอุปกรณ์ที่ใช้
ในพื้นที่ฟาร์มสิงหรัตน์ มีพื้นที่ 15 ไร่ สวนปลูกมะม่วง 7 ไร่ บ้านและสาธารณูปโภคโภค 1 ไร่ บ่อน้ำ 2 ไร่ พื้นที่เลี้ยงไก่ 5 ไร่
วัสดุและอุปกรณ์ที่ต้องใช้ในการเลี้ยงไก่
· ตัวไก่ พ่อพันธุ์และแม่พันธุ์
· โรงเรือน
· อาหาร
· ยารักษาโรค

( 5 ) การเผยแพร่ผลงาน การนำผลงานออกเผยแพร่ต่อสาธารณะชน
แนวทาง ได้มีกลุ่มนักอนุรักษ์ของทางต่างประเทศ เห็นว่าการชนไก่เป็นการทรมานสัตว์เป็นการทารุน และทางสมาคมจึงจะสร้างภาพพจน์ที่ดีคือเปลี่ยนมาเป็นการเลี้ยงไก่สวยงามและในการชนไก่เปลี่ยนเป็นการซ้อมหรือทดสอบคัดไก่ที่ดีมาเป็นพ่อพันธุ์ที่ดีเพื่อที่จะอนุรักษ์ ไว้แก่ชนรุ่นหลัง
การนำไปเผยแพร่ ทางฟาร์มสิงหรัตน์ได้พัฒนาไก่สายพันธุ์ที่ดีและได้จัดส่งเข้าประกวดทุกที่ที่มีการประกวดไก่สวยงามและชนไก่

( 6 ) การถ่ายทอดผลงานให้ผู้อื่น
ในทางฟาร์มได้จัดแจกจ่ายและจำหน่ายแก่บุคคลทั่วไปที่สนใจการเลี้ยงไก่ไปมากและทางฟาร์มกำลังจะขยายสายพันธุ์ไก่และอนุรักษ์สายพันธุ์ต่าง ๆ
สามารถติดต่อได้ที่ สิงหรัตน์ฟาร์มไก่ชน 52 หมู่ ที่ 10 หมู่บ้านหนองนกกระเรียน ต. รางบัว อ. จอมบึง จ. ราชบุรี โทร 01-9336283 , 01-6899515 , 01 –3093352 เจ้าของคือ คุณรัชนี คุณเอกเดช สิงหรัตน์ ผู้ดูแลฟาร์ม อบต. สมศักดิ์ แป้นชาติ ( ไพ )


(7 ) คุณค่า ประโยชน์ และความสำคัญของผลงาน
1. ด้านจิตใจเป็นการผ่อนคลายอารมณ์
2. พัฒนาและอนุรักษ์สายพันธ์ไก่สวยงาม
การอนุรักษ์ไก่ในประเทศไทยจนมีไก่ประจำจังหวัด ได้แก่
1. จ. พิษณุโลก อนุรักษ์ไก่รุ่นเหลืองหางขาว
2. จ. สุโขทัย อนุรักษ์ไก่รุ่นประดู่หางดำ

3. จ. อุตรดิตถ์ อนุรักษ์ไก่รุ่นเขียวพาลีหางดำ
4. จ. กำแพงเพชร อนุรักษ์ไก่รุ่นเขียวเล่าหางขาว
5. จ. ลำปาง อนุรักษ์ไก่รุ่นไก่ชี ( ไก่ขาว )
6. จ. นครราชสีมา อนุรักษ์ไก่รุ่นเทาสวาดหางขาว
7. จ. กาญจนบุรี อนุรักษ์ไก่รุ่นนกแดงหางแดง




No comments: